เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ 8. ปทุมพุทธวงศ์
[16] กรุงชื่อว่าจัมปกะ กษัตริย์พระนามว่าอสมะ เป็นพระชนก
พระเทวีพระนามว่าอสมา เป็นพระชนนี
ของพระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมะ ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
[17] พระองค์ทรงครองฆราวาสอยู่ 10,000 ปี
มีปราสาทที่อุดมอยู่ 3 หลัง
คือนันทปราสาท วสุปราสาท และยสุตตรปราสาท
[18] มีนางสนมกำนัล 33,000 นาง
ล้วนประดับประดาสวยงาม
พระมเหสีพระนามว่าอุตตรา
พระราชโอรสพระนามว่ารัมมะ
[19] พระชินเจ้าทรงเห็นนิมิต 4 ประการ
จึงทรงราชพาหนะคือรถออกผนวชแล้ว
ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ 8 เดือนเต็ม(จึงได้บรรลุพระโพธิญาณ)
[20] พระมหาวีระพระนามว่าปทุมะ ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
ผู้อันพรหมทูลอาราธนาแล้ว ทรงประกาศพระธรรมจักร
ณ พระอุทยานธนัญชะอันประเสริฐ
[21] พระสาลเถระและพระอุปสาลเถระเป็นพระอัครสาวก
พระเถระนามว่าวรณะเป็นพระอุปัฏฐากของพระปทุมพุทธเจ้า
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
[22] พระราธาเถรีและพระสุราธาเถรีเป็นพระอัครสาวิกา
ต้นไม้เป็นที่ตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
ชาวโลกเรียกว่า ต้นอ้อยช้างใหญ่
[23] สภิยอุบาสกและอสมอุบาสกเป็นอัครอุปัฏฐาก
รุจิอุบาสิกาและนันทรามาอุบาสิกาเป็นอัครอุปัฏฐายิกา
[24] พระมหามุนีทรงมีพระวรกายสูง 58 ศอก
พระองค์มีพระรัศมีหาอะไรเสมอมิได้ ซึ่งแผ่ซ่านออกทั่วทิศ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :632 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ 9. นารทพุทธวงศ์
[25] แสงดวงจันทร์ แสงดวงอาทิตย์ แสงรัตนะ แสงไฟ
และแสงแก้วมณีจินดาแม้ทุกอย่างนั้น
ครั้นมาถึงรัศมีอันสูงสุดของพระชินเจ้าแล้วย่อมอันตรธานไป
[26] ขณะนั้น มนุษย์ทั้งหลายมีอายุประมาณ 100,000 ปี
พระองค์ก็ทรงดำรงพระชนมายุประมาณเท่านั้น
ทรงช่วยหมู่ชนให้ข้ามพ้นได้เป็นจำนวนมาก
[27] พระองค์พร้อมกับสาวกนั้น ทรงช่วยเหล่าสัตว์
ที่มีญาณแก่กล้าให้ตรัสรู้ได้โดยไม่เหลือ
ทรงพร่ำสอนชนที่เหลืออื่น ๆ แล้วเสด็จดับขันธปรินิพพาน
[28] พระองค์ทรงละทิ้งสังขารทั้งปวงเหมือนงูลอกคราบเก่า
ดังรุกขชาติสลัดใบเก่า แล้วเสด็จดับขันธปรินิพพาน
เหมือนเปลวเพลิงดับไป
[29] พระปทุมชินศาสดาผู้ประเสริฐ
เสด็จดับขันธปรินิพพานที่ธรรมาราม
พระบรมสารีริกธาตุของพระองค์
แผ่ไปอย่างกว้างขวางในนานาอารยประเทศ ฉะนี้แล
ปทุมพุทธวงศ์ที่ 8 จบ

9. นารทพุทธวงศ์
ว่าด้วยพระประวัติของพระนารทพุทธเจ้า
[1] สมัยต่อจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมะ
ได้มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่านารทะ ตามพระโคตร
ผู้สูงสุดแห่งเทวดาและมนุษย์ไม่มีใครเสมอเหมือน ไม่มีบุคคลเปรียบ
[2] พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ทรงเป็นพระเชษฐโอรส
ที่ทรงโปรดปรานของพระเจ้าจักรพรรดิ
ทรงสวมใส่อาภรณ์แก้วมุกดา เสด็จเข้าไปยังพระราชอุทยาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :633 }